ชีวประวัติ

ชีวประวัติ ศาสตราจารย์ บุญชนะ  อัตถากร

ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ (๒๔๕๓- ๒๕๔๗)

ศาสตราจารย์บุญชนะ-ท่านผู้หญิงแส อัตถากร photo

ศาสตราจารย์บุญชนะ –ท่านผู้หญิงแส อัตถากร

 ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เป็นบุตรคนที่ ๔ ของนายทองดี กับนางแก้ว อัตถากร เกิดเมื่่อ วันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ (ปีจอ)ที่ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามมีพี่น้องร่วม บิดามารดาจำนวน ๘ คน เป็นชาย ๖ คน และเป็นหญิง ๒ คน  ดังนี้ ๑. นางทุเรียน สมรสกับนายฮวด  ทองโรจน์ ๒. นายทองม้วน สมรสกับนางทองมาก (พาณิชย์เจริญ) ๓. นายบุญช่วย สมรสกับนางอารีรัตน์  (เตชะธุวานันท์) ๔. นายบุญชนะ(เดิมชื่อ บุญชื่น) สมรสกับท่านผู้หญิงแส (สิริสิงห) ๕. นายบุญถิ่น สมรสกับ ม.ร.ว.พรรรณเรือง (เกษมสันต์) ๖. นางสาวถนอม  อัตถากร ๗. นายสวัสดิ์  อัตถากร ๘. นายเฉลิม สมรสกับ นางบาหยัน  (ไม่ทราบนามสกุล) ประวัติการศึกษา และ การทำงาน

พ.ศ.๒๔๕๘ -อายุ ๖ ปี เริ่มเรียนหนังสือครั้งแรกที่โรงเรียนสารคามพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดมหาสารคาม
พ.ศ.๒๔๖๕ -สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๓ (อายุ ๑๒  ปี)
พ.ศ.๒๔๖๗ -สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ ๖  จากโรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เมื่ออายุ ๑๔ ปี
พ.ศ.๒๔๖๘ -ศึกษาต่อชั้นมัธยมปีที่  ๗ ที่โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา  และเข้าสอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ ๘ เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๙  แต่สอบตก
พ.ศ.๒๔๗๐ -เข้าทำงานครั้งแรกเป็นพนักงานรถไฟอยู่ชั่วระยะสั้นๆ
-สมัครสอบเข้าทำงานที่กรมศุลกากร และสอบได้เป็นที่ ๒ จากจำนวนผู้สมัครประมาณ ๑๐๐ คน แต่อายุน้อยไม่ถึง ๑๘ ปี จึงยังไม่ถูกเรียกเข้าทำงาน
พ.ศ.๒๔๗๑ -เข้าเรียนที่โรงเรียนไปรณีย์โทรเลข
-เริ่มรับราชการที่กรมศุลกากร  เป็นเสมียนชั่งข้าว ชั้น ๓
พ.ศ.๒๔๗๓ -สอบราชบุรุษได้ที่ ๑  ในจำนวนผู้สมัครสอบทั้งสิ้น ๑,๙๒๘ คน
-สมัครสอบมัธยมปีที่ ๘ และสอบได้
พ.ศ.๒๔๗๔ -เข้าเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม
-อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา ๑ พรรษา ที่พระอารามหลวงวัดมหาชัย จังหวัดมหาสารคาม ฉายา สุมังคโล
พ.ศ.๒๔๗๖ -สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยาม เกียรตินิยมอันดับ ๒  (ขณะนั้นโรงเรียนกฎหมายของกระทรวงยุติธรรม ได้ย้ายมาสังกัดคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
พ.ศ.๒๔๗๗ -เลื่อนตำแหน่งเป็นประจำแผนก
พ.ศ.๒๔๗๙- ๒๔๘๑ -เป็นเลขานุการของหม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยยันต์ อธิบดีกรมศุลกากร
พ.ศ.๒๔๘๐ -เป็นหัวหน้าแผนกสารบรรณ แล้วย้ายไปเป็นหัวหน้าแผนกพิธีการศุลกากร
พ.ศ.๒๔๘๑ -เป็นหัวหน้าแผนกกฎหมาย  แล้วเป็นหัวหน้าแผนกพิกัดอัตราศุลกากร
พ.ศ.๒๔๘๓ -ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์และครู โรงเรียนศุลกากร สอนวิชาเศรษฐศาสตร์และวิธีปฏิบัติงานศุลการกร
พ.ศ.๒๔๘๔ -ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการศุลกากร กองอำนวยการ กรมการผสม
ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ตามคำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
-เปลี่ยนชื่อจากบุญชื่น เป็น บุญชนะ
พ.ศ.๒๔๘๕ -เป็นศุลกากรเขต ๓  (ผู้ตรวจราชการศุลกากร)  ในจังหวัดพระนคร
พ.ศ.๒๔๘๖ -เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก
พ.ศ.๒๔๘๙ -เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา
-ถูกกลั่นแกล้งจนถูกสั่งพักราชการ และถูกปลดออกจากราชการในเวลาต่อมา
พ.ศ.๒๔๙๒ -เปิดสำนักงานกฎหมายบุญชนะ อยู่ที่ท่าน้ำราชวงศ์
-ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดมหาสารคาม แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
พ.ศ.๒๔๙๔ -๘ มกราคม กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการในกรมศุลกากรตามเดิม
-๑๗  กุมภาพันธ์  ลาออกจากราชการกรมศุลกากร
-ประกอบอาชีพทนายความ โดยย้ายมาเปิดสำนักงานกฎหมายวิศิษฐ์ ที่ถนนสี่พระยา และถนนพัฒน์พงศ์
พ.ศ.๒๔๙๙ -ได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา
สหรัฐอเมริกา และสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ในปีถัดมา
พ.ศ.๒๕๐๐-๒๕๐๙ -เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พ.ศ.๒๕๐๒ -ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.๒๕๐๓ -ศึกษาต่อหลักสูตรระยะสั้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่มหาวิทยาลัยออกซ์
ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยทุนของรัฐบาลอังกฤษ
พ.ศ.๒๕๐๓-๒๕๐๖ -เป็นรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
-เป็นผู้อำนวยการส่วนการร่วมมือทางเศรษฐกิจวิชาการกับต่างประเทศ
พ.ศ.๒๕๐๖-๒๕๑๐ -เป็นอธิบดีกรมวิเทศสหการ (คนแรก)
-เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๐๙ -ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขากฎหมาย จากมหาวิทยาลัยอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
-ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (นักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถทางรัฐศาสตร์และการบริหาร)
พ.ศ.๒๕๐๙-๒๕๑๐ -เป็นอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (คนแรก)
-ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเศรษฐศาสตร์ จากคณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ครบรอบ ๕๐ ปี จุฬา)
พ.ศ.๒๕๑๐-๒๕๑๒ -เป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
-เป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๔ -เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ
พ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๑๘ -เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ศูนย์คอมพิวเตอร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ.๒๕๑๖ -เป็นกรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
-ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๑๗ -เป็นรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ -ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พ.ศ.๒๕๑๙ -ถูกกล่าวหาว่าเป็น ๑ ใน ๘ ผู้ก่อความไม่สงบ ๑-๓ เมษายน จนต้องเดินทางไปพำนักที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
เมื่อมีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมและพ้นข้อกล่าวหา จึงเดินทางกลับประเทศไทยในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน
พ.ศ.๒๕๒๘-๒๕๔๓ -เป็นประธานกรรมการบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต (ทีเอสไลฟ์) จำกัด (คนแรก) และลาออกเมื่ออายุครบ  ๙๐ ปี
พ.ศ.๒๕๓๒-๒๕๓๔ -เป็นสมาชิกวุฒิสภาและได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภา
พ.ศ.๒๕๓๒ -ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๕ -เป็นประธานที่ปรึกษาสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)
พ.ศ.๒๕๓๔-๒๕๓๕ -เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
-เป็นประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา
-เป็นประธานกรรมการร่างกฎหมายคณะที่ ๑ คณะกรรมการกฤษฎีกา
พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๔๑ -เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ
พ.ศ.๒๕๓๘ -ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปริญญา

  • เนติบัณฑิต (เกียรตินิยม) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • M.A (รัฐประศาสนศาสตร์และการคลัง)  มหาวิทยาลัยอินเดียนา  สหรัฐอเมริกา
  • ประกาศนียบัตรการพัฒนาเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด,  อังกฤษ
  • ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร  รุ่น 4
  • ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในสาขาวิชาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์   มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  • มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
  • มหาวชิรมงกุฎ
  • ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
  • เหรียญกาชาดสมณาคุณ (ชั้นหนึ่ง)
  • เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
  • เหรียญจักรพรรดิมาลา

ตำแหน่งสำคัญในอดีต

  •  ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ
  • กรรมการกฤษฎีกา
  • รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ
  • อธิบดีกรมวิเทศสหการ
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
  • เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ (พาณิชย์)
  • รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
  • รองประธานวุฒิสภา
  • ตุลาการรัฐธรรมนูญ
  • ประธานกรรมการบริษัท พรูเด็นเชียล   ทีเอสไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ผลงาน 1. ด้านการศึกษา 1.1เมื่อเป็นรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ,อธิบดีกรมวิเทศสหการ, และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติได้เจรจาขอทุนจากต่างประเทศสนับสนุนส่งนักศึกษาไปศึกษาในสาขาต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ  ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย  นิวซี แลนด์  ฯลฯ เป็นจำนวนหลายร้อยคน บุคคลต่างๆ เหล่านั้นได้ กลับมารับราชการและทำงานในภาคธุรกิจเอกชน จนถึงเวลานี้มีตำแหน่งหน้าที่สำคัญ ๆ เช่น ปลัดกระทรวง อธิบดี รัฐมนตรี  และนักธุรกิจใหญ่ 1.2ได้เสนอรัฐบาลให้จัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์เพื่อพัฒนาบุคลากรในสาขาบริหารธุรกิจ พัฒนาเศรษฐกิจ และสถิติประยุกต์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ สถาบันนี้ 2. ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 2.1ได้เสนอให้รัฐบาลตั้งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเมื่อปี พ.ศ.2504 เป็นแผน 6ปี  และได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อมา จนถึงปัจจุบัน 2.2ได้เสนอรัฐบาลตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเมื่อปีพ.ศ.2503 และตั้งขึ้นสำเร็จในปีพ.ศ. 2506 โดยรวมเอากิจการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน พัฒนาทางหลวง พัฒนาพลังงาน เช่นไฟฟ้า และปรมาณูไว้ในกระทรวงเดียวกัน (ต่อมารัฐบาลได้ยกเลิกกระทรวงนี้เมื่อปี พ.ศ.2510) 2.3ระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการพ.ศ.2506-2514 ได้เป็นผู้แทนของรัฐบาลไปประชุมเกี่ยวกับการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเช่น เกี่ยวกับแผนโคลัมโบ เกี่ยวกับการสร้างทางหลวงสายเอเซีย ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้เป็นอันมาก 3. ผลงานอื่นๆ 3.1ได้เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีไทยไปเจรจากับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ.2505และต่อมานายกรัฐมนตรีทั้งสองได้พบกันที่กรุงเทพเป็นผลให้รัฐบาลไทยได้รับเงินที่ญี่ปุ่นกู้ไปในสมัยสงครามโลกจำนวนหลายร้อยล้านบาทกลับคืนมา เงินกู้รายนี้เรียกกันว่า เงินกู้เงินเยนพิเศษ 3.2ระหว่างไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตในสหรัฐอเมริกา ได้ติดต่อกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆโดยการติดต่อสนทนาด้วยเป็นประจำเพื่อส่งเสริมมิตรภาพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ได้เดินทางไปแสดงปาฐกถาในสถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบจะทุกสัปดาห์ เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น หนังสือที่เขียน

  • Supervision of Finance
  • An Outline of Public Finance Administration
  • การคลัง เศรษฐกิจ และการบริหาร
  • ทฤษฎีภาษีและทางปฏิบัติ
  • หลักวิชาการคลัง
  • การจัดองค์การและวิธีปฏิบัติการ
  • ประสบการณ์และความคิด 2513
  • บันทึกของทูตไทย
  • บันทึกรัฐมนตรีเศรษฐการ
  • การบริหารกับคอมพิวเตอร์
  • กำเนิดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
  • กำเนิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
  • ราชการ ณ ต่างประเทศ
  • บันทึกเมื่อข้าพเจ้าไปเยือนประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปและจีน
  • บันทึกเรื่องการปฏิวัติ 1 เมษายน 2524 กับข้าพเจ้า
  • บันทึกวิเคราะห์และวิจารณ์ 16 นายกรัฐมนตรีไทย
  • ชีวิตและความฝัน
  • นายกรัฐมนตรีชวนกับประชาธิปไตยสายกลาง
  • พระพุทธศาสนาช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร

ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร สมรสกับท่านผู้หญิงแส (สิริสิงห) เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๔๗๙  มีบุตรธิดารวม   ๓  คน ๑. ศาสตราจารย์ทักษิณา  สมรสกับนายเดโช  สวนานนท์ ๒. ดร. อุตตรา สมรสกับนายทิว  รัศมิเสน ๓. นายบูรพา  อัตถากร สมรสกับนางวันดี  (ไชยกาญจน์) ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เป็นผู้ที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดียิ่ง ระมัดระวังในเรื่อง การรับประทานอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เมื่ออายุ ๙๐ ปี ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทพรูเดนเชียล ทีเอส ไลฟ์ จำกัด(มหาชน)แล้ว ท่านพยายามใช้ชีวิตประจำวันตามปรกติ ไม่อยู่เฉย ยังคงออกไปดื่มกาแฟยามเช้าที่โรงแรมเมอริเดียน เพรสิเด้นท์ เป็นประจำทุกวัน  ต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๗  ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เริ่มมีอาการของโรคชรา ไม่สามารถ ลุกเดินหรือช่วยตัวเองได้ตามปรกติ  ไปไหนมาไหนไม่ได้ วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗  มีอาการสำลักอาหารและโรคปอดบวมแทรก จึงเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลกรุงเทพฯ และถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๑๙ น. สิริอายุได้ ๙๓ ปี  ๘ เดือน  ๒๗ วัน.