เกี่ยวกับมูลนิธิ

ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร กับมูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ-ท่านผู้หญิงแส อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัย

                          เขียนโดยนายถนอม ศุขสาตร ประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ       

 

ศาสตราจารย์ทักษิณาขอให้ข้าพเจ้าช่วยเขียนตามความทรงจำเกี่ยวกับการจัดตั้งมูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ-ท่านผู้หญิงแส อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัยในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งมูลนิธิดังกล่าว  ประกอบกับมีความคุ้นเคยสนิทสนมกับศาสตราจารย์บุญชนะ     อัตถากร เป็นอย่างดี

ก่อนอื่น ขอท้าวความเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยที่ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ของศาสตราจารย์บุญชนะตั้งแต่ครั้งท่านยังรับราชการอยู่ที่กรมศุลกากร  เมื่อข้าพเจ้าจบการศึกษาจากโรงเรียนศุลกากร สังกัดกรมศุลกากรแล้ว  ข้าพเจ้าได้มาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนจบปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต  และรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ตามลำดับ  หลังจากจบการศึกษาแล้ว  ข้าพเจ้าได้ทำงานร่วมกับท่านศาสตราจารย์บุญชนะหลายเรื่องด้วยกัน  เช่น  การจัดตั้งกรมวิเทศสหการ  กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ที่กรมวิเทศสหการ ศาสตราจารย์บุญชนะได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีเป็นคนแรก  และได้ขอให้ข้าพเจ้าไปทำหน้าที่รองอธิบดีฝ่ายบริหารอยู่ระยะหนึ่ง  ระหว่างที่รอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งอยู่นั้น  ข้าพเจ้าได้รับทุนของสหประชาชาติให้ไปศึกษาและดูงาน ณ สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี  และอาจขอขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็น  เมื่อจะต้องไปต่างประเทศในระยะเวลานานเช่นนั้น  หากไม่มีคนปฏิบัติหน้าที่แทนอาจเสียหายแก่ราชการได้  ศาสตราจารย์บุญชนะจึงได้ให้ข้าพเจ้าย้ายไปอยู่ในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ชั้น ๑) ในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ  และให้บุคคลอื่นมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิเทศสหการแทน  เมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับจากต่างประเทศในปี พ.ศ.2508  การก่อตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ใกล้จะเสร็จ  และได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในปี พ.ศ.2509  หลังจากพระราชบัญญัติประกาศใช้ได้มีพระบรมราชโอการฯประกาศแต่งตั้งศาสตราจารย์บุญชนะให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของสถาบันเป็นท่านแรก  ซึ่งขณะนั้นท่านได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติอยู่ด้วย  ต่อมาจึงได้ติดต่อขอให้ข้าพเจ้าไปดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร

 

ศาสตราจารย์บุญชนะดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบัณบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์อยู่ประมาณ 3 ปี  เมื่อท่านพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติแล้ว  ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ปี ท่านพ้นจากตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย  เพราะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ  (ปัจจุบันเป็นกระทรวงพาณิชย์)  ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอยู่นั้นเอง  ท่านได้เรียกให้ข้าพเจ้าไปพบและมอบบันทึกความจำเอกอัคราชทูตไทย  ซึ่งบันทึกไว้ระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชฑูตให้ข้าพเจ้านำมาอ่านและศึกษาดู   ข้าพเจ้าได้อ่านและพิจารณาข้อความในบันทึกดังกล่าวอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์  เห็นว่าบันทึกดังกล่าวนั้น  หากได้มีการเผยแพร่ให้คนอื่นได้ศึกษาก็จะเป็นประโยชน์  เพราะจะให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการติดต่อระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะนักศึกษาทางรัฐศาสตร์  หรือรัฐศาสตร์ทางการทูตจะได้รับประโยชน์อย่างมาก  ข้าพเจ้าจึงได้เข้าพบศาสตราจารย์บุญชนะที่กระทรวงเศรษฐการ  และเสนอความเห็นดังกล่าวข้างต้นให้ท่านพิจารณา   ในที่สุดท่านเห็นชอบด้วย  และอนุญาตให้ข้าพเจ้าดำเนินการจัดพิมพ์เป็นเล่มเพื่อจำหน่ายได้  โดยท่านปรารภว่า  หากจำหน่ายหนังสือที่จะจัดพิมพ์ได้  และหลังจากหักค่าใช้จ่ายหากยังมีเงินเหลือ  ก็อยากจะนำไปจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กรุ่นหลังที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ต่อ

 

ในการจัดพิมพ์  ข้าพเจ้าได้ร่วมกับอาจารย์เกษม อุณหสุวรรณ  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์   อาจารย์เกษมเคยร่วมงานกับท่านศาสตราจารย์บุญชนะที่กรมวิเทศสหการ  และกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติมาก่อนด้วยผู้หนึ่ง  ในการจัดพิมพ์อาจารย์เกษม ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงช่วยข้าพเจ้าในการตรวจบรู๊ฟและจัดการบัญชีรับรายจ่ายจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี  การจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ปรากฏว่าจำหน่ายได้หมดในระยะเวลาอันสั้นตามคาด  เพราะมีผู้สนใจมาก  ผลที่สุดเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินรายได้เหลือ 2 แสนบาทเศษ  ข้าพเจ้าได้นำไปมอบให้ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ท่านจึงมอบหมายให้ข้าพเจ้าดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิขึ้นตามความประสงค์ของท่าน

 

มูลนิธิได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2515  โดยใช้ชื่อว่ามูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัย  ต่อมาคณะกรรมการมูลนิธิเห็นพ้องกันว่าท่านผู้หญิงแส อัตถากร ได้มีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมของมูลนิธิเป็นอย่างมาก  คณะกรรมการจึงลงมติเป็นเอกฉันท์ให้จดทะเบียนเพิ่มชื่อท่านผู้หญิงแสในชื่อมูลนิธิ เป็นมูลนิธิศาสตราจารย์บุญชนะ-ท่านผู้หญิงแส อัตถากร เพื่อการศึกษาและวิจัย จนถึงทุกวันนี้

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือทางด้านการศึกษาที่ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ได้เคยปรารภกับข้าพเจ้าอยู่เสมอว่าอยากให้เยาวชนรุ่นหลังที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนในวิชากรแขนงต่างๆ ให้มากที่สุด  เพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับอารยะประเทศ  ในระยะเริ่มแรกมูลนิธิให้ทุนการศึกษาได้ไม่มากนัก  เพราะได้ใช้ดอกผลของเงินทุนมาจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือ  ระยะต่อๆ มา  กองทุนได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  โดยศาสตราจารย์บุญชนะเอง  มีเพื่อนฝูง ญาติมิตรและศิษย์   ได้นำมาเพิ่มเงินทุนของมูลนิธิทุกๆ ปีในโอกาสต่างๆ  เช่น  ในวาระครบวันเกิดของท่าน  หรือวันขึ้นปีใหม่

 

นอกจากนี้ท่านศาสตราจารย์บุญชนะยังได้บริจาคทรัพย์สมบัติส่วนตัวให้กับมูลนิธิอีกหลายรายการดังต่อไปนี้

  1. เงินสดจำนวน  6 ล้านบาท
  2.  ท่านและท่านผู้หญิงแส ได้มอบที่ดินเนื้อที่ 107 ตารางวา ให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานของมูลนิธิฯ
  3. เงินสดซึ่งใช้เป็นเงินก่อสร้างสำนักงานอีกจำนวน 1.4 ล้านบาท
  4. เงินสด 7 ล้านบาท  ซื้อที่ดินเปล่าเพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานมูลนิธิเพิ่มเติมอีก 126 ตารางวา
  5. ทำพินัยกรรมยกที่ดินและบ้านที่ท่านเคยอยู่  เลขที่ 55 ถนนสุขุมวิท ซอย 65 เนื้อที่ 400 ตารางวา

จวบจนปัจจุบัน  มูลนิธิมีทรัพย์สินรวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556  40,094,517.69 บาท  มีเงินลงทุนระยะยาวจำนวน 17,200,000 บาท

ทรัพย์สินของมูลนิธิ

จากทุนประเดิมประมาณ 200,000 บาทเมื่อก่อตั้งมูลนิธิในปี 2515 ปัจจุบัน (ปี 2552) มูลนิธิฯมีทรัพย์สินรวมประมาณ 38 ล้านบาท

 

การให้ทุนการศึกษา

มูลนิธิฯ เริ่มให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จำนวนทุนการศึกษาที่ได้ให้ไปแล้วตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิจนถึงปัจจุบันรวม 1,310 ทุน ขณะนี้มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท และปริญญาตรี และสายอาชีพจากสถาบันต่างๆ กว่า 200 คน  การจัดสรรเงินให้แก่ผู้รับทุน คณะกรรมการจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาไตร่ตรองและพิจารณาให้ทุนเป็นปีๆ ต่อเนื่องไปจนกว่าผู้รับทุนจะจบการศึกษา

มูลนิธิฯได้นำรายได้อันเกิดจากดอกผลที่ได้รับจากเงินฝากประจำมาจัดสรรเป็นเงินทุนการศึกษาทุกปี โดยกำหนดให้แก่เด็กที่เรียนดีพอสมควรแต่ขาดทุนทรัพย์ ผู้รับทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา และเป็นผู้ที่คณะกรรมการเห็นสมควรได้รับทุน ผู้รับทุนที่มีผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจจะได้รับทุนต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จการศึกษาผู้ที่ประสงค์จะขอทุนจากมูลนิธิฯ จะต้องทำหนังสือขอทุนพร้อมผลการศึกษาตลอดปี สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนส่งมายังมูลนิธิฯภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของแต่ละปี